Anon Biotec web board
Would you like to react to this message? Create an account in a few clicks or log in to continue.

การเพาะเห็ดในไม้ แต้นนี้ที่อยากชำระ ตอนที่ 4

Go down

การเพาะเห็ดในไม้ แต้นนี้ที่อยากชำระ ตอนที่ 4 Empty การเพาะเห็ดในไม้ แต้นนี้ที่อยากชำระ ตอนที่ 4

ตั้งหัวข้อ  anonmush Thu Sep 09, 2010 10:48 pm

สำหรับท่านที่ผ่านการอบรมเห็ดไปแล้ว คงจะทราบกันดีว่า เห็ดที่เพาะได้นั้น แบ่งออกคร่าวๆเป็น 2 จำพวก แต่ปัจจุบัน อาจจะจัดขึ้นเป็น 3 พวก คือ พวกที่เกิดขึ้นตามกิ่งหรือต้นไม้ที่ตายแล้ว พวกที่ 2 คือ พวกที่เจริญตามปุ๋ยหมัก พวกสุดท้าย คือ พวกที่จำเป็นจะต้องอาศัยสิ่งมีชีวิตช่วยสร้างอาหารบางอย่างให้ ต่อไปในอนาคต อาจจะเพิ่มอีกพวกหนึ่งคือ พวกที่กินแมลงหรือทำลายแมลงเพื่อเป็นแหล่งอาหารก่อนที่จะเกิดดอก วันนี้จะขอพูดเฉพาะ เห็ดที่เกิดขึ้นตามกิ่งหรือต้นไม้ที่ตายแล้วเท่านั้น เพราะเห็ดชนิดนี้ สามารถย่อยอาหารเชิงซ้อนด้วยตัวของมันเองได้ อันได้แก่ เห็ดนางรม เห็ดนางฟ้า เห็ดหูหนู เห็ดหูหนูขาว เห็ดเป๋าฮื้อ เห็ดขอนขาว เห็ดลม เห็ดหังลิง เห็ดจิก เห็ดฮุนชิ เห็ดหลินจือ เป็นต้น คำว่าอาหารเชิงซ้อนนั้นก็หมายความว่า มันสามารถย่อยเนื้อไม้ได้โดยตรง โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยเชื้อจุลินทรีย์อื่นย่อยอาหารให้มันเสียก่อน เหมือน เห็ดโคนน้อย เห็ดฟาง เห็ดกระดุมบราซิล เห็ดแชมปิญอง เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ เห็ดที่มีความสามารถในการย่อยอาหารเชิงซ้อนได้นี่แหละ สามารถทำการเพาะในขอนไม้ได้ ประเด็นของมันขึ้นอยู่กับว่า เห็ดเหล่านี้จะกินอาหารได้ดีนั้น ขึ้นอยู่กับชนิดไม้ อาหาร ความชื้น และอากาศในไม้ รวมทั้งเชื้อคู่แข่งที่อยู่ในไม้ด้วย คนจีนถือว่าเป็นชนชาติแรกที่ทำการเพาะเห็ดในไม้มานานนับพันปีแล้ว ด้วยการตัดต้นไม้ฝังดิน จนกระทั่งต้นไม้เน่า ผุ แล้ว จึงเอาออกมาตากฝนในฤดูฝน อีกไม่นานก็จะมีเห็ดธรรมชาติเกิดขึ้น ต่อมาได้มีการพัฒนาวิธีการเพาะ ด้วยการตัดไม้สดออกมาเป็นท่อนๆ ใช้มีดสับเปลือกให้ลึกพอสมควร แล้วใช้น้ำแช่ดอกเห็ดที่แก่แล้ว ที่มันสร้างสปอร์แล้ว เอามาทาบริเวณแผล ผลผลิตที่ได้ดีและแน่นอนขึ้น แต่ประเทศที่ทำการเพาะเห็ดในไม้เป็นธุรกิจเป็นล่ำเป็นสัน คือ ญี่ปุ่น โดยมีนักศึกษาจากวิทยาลัยเกษตรที่เพิ่งจบใหม่ ที่เกาะคิริว ชื่อ Kanichi Mori ได้สังเกตเห็นชาวบ้านตัดไม้ก่อฝังดิน แล้วเอามาวางในช่วงฤดูฝนประมาณ 1-2 ปี ก็จะมีเห็ดหอม หรือเห็ดหูหนูเกิดขึ้น ในช่วงนั้น เป็นช่วงที่ญี่ปุ่นเพิ่งแพ้สงครามโลกใหม่ๆ ผู้คนอยู่กันอย่างขัดสน จึงบุกเข้าไปตัดไม้ทำลายป่า เพื่อนำมาเผาถ่านหรือทำฟืน ทำให้ญี่ปุ่นช่วงนั้น เกิดวิกฤตด้านป่าไม้ที่เคยมีมากกว่าครึ่งหนึ่งของพื้นที่ทั้งประเทศ ลดลงอย่างรวดเร็ว เหลือไม่ถึง 30% คุณ Kanichi Mori จึงได้ทำการศึกษาเรื่องการเพาะเห็ดในขอนไม้อย่างจริงจัง จนสามารถผลิตเชื้อเห็ดหอมบริสุทธิ์ได้ แล้วนำไปเจาะใส่ในไม้ ใช้เวลาไม่ถึงปี ก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ โดยจะเก็บผลผลิตได้อย่างต่อเนื่องไปนาน 4-6 ปี ท่านจึงได้เสนอให้กับรัฐบาลว่า น่าจะส่งเสริมให้เกษตรกร หันมาใช้ไม้มาเพาะเห็ด ดีกว่าตัดเอาไปเป็นฟืน แต่มีข้อแม้ว่า จะอนุญาตให้ตัดไม้จากป่าได้ แต่ต้องตัดให้ถูกวิธีการ ที่สำคัญ หากตัด 1 ต้น จะต้องปลูกทดแทน 2 ต้นขึ้นไป เหตุที่อนุญาตให้ตัดไม้จากป่าได้เลย ก็เพราะ หากจะส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกไม้เสียก่อน แล้วรอจนมันโต จึงจะเอามาเพาะเห้ดนั้น ไม่มีทางเป็นไปได้เลย เพราะไม้ที่นำมาเพาะเห็ดหอมได้ผล คือ ไม้โอค ตระกูล Quercus or Castanopsis ซึ่งเจริญเติบโตช้ามาก ต้องใช้เวลาปลูก 25-35 ปี จึงจะสามารถนำมาเพาะเห็ดได้(นั่นก็คือ ปลูกตอนนี้ รุ่นลูกหรือหลานเท่านั้น จึงจะเอาไปใช้ได้) ปรากฎว่ารัฐบาลเห็นด้วย พร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่ จนมีเกษตรกรร่วมโครงการมากกว่า 3 แสนครอบครัว มีการรวมกลุ่มกันเป็นสมาคมผู้เพาะเห็ดในจังหวัดต่างๆ กลายเป็นสมาคมการเกษตรที่มีสมาชิกที่มากที่สุดตราบเท่าทุกวันนี้ และญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศที่เพาะและผลิตเห็ดหอมมากที่สุดในโลก และผลที่ตามที่รัฐบาลไม่ต้องเสียงบประมาณเพิ่มเติมอีกก็คือ ได้พื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว จนปัจจุบัน ญี่ปุ่นมีพื้นที่ป่ามากกว่าครึ่งหนึงของประเทศดังเดิมแล้ว ซึ่งมันตรงข้ามกับประเทศไทยอย่างสิ้นเชิง แล้วรัฐบาลญี่ปุ่นได้ทำการยกย่องคุณ Kanichi Mori เป็นบิดาเห็ดหอมของญี่ปุ่น โดยได้รับปริญญาเอกกิตติมศักดิ์จากรัฐบาลญี่ปุ่นด้วย ผมได้มีโอกาสไปฝึกงานในสถานที่ของท่าน ซึ่งท่านเสียชีวิตไปแล้ว แต่สถานที่ดังกล่าว ได้ถูกพัฒนาขึ้นเป็นสถาบันเห็ดมอริ ดำเนินการและบริหารโดยลูกชายของท่าน คือ Dr. Mitsuo Mori หลังจากที่ผมจบหลักสูตรแล้ว ผมก็ทุ่มทำงานวิจัยเรื่องเพาะเห็ดในไม้ในบ้านเราอย่างจริงจังต่อเนื่องกันหลายปี พบว่า ประเทศไทยเรามีสภาพดินฟ้าอากาศดีกว่าและได้เปรียบกว่าญี่ปุ่นมากมาย โดยเรามีไม้มากมายหลายชนิด ที่ปลูกง่าย โตเร็ว สามารถนำเอามาเพาะเห็ดได้ และเรายังสามารถเพาะเห็ดได้มากมายหลายชนิดในไม้ได้ ดังได้กล่าวแล้วแต่ต้น ในช่วงปี 2518-2530 ถือว่าเป็นช่วงที่การเพาะเห็ดในขอนไม้บูมที่สุด จากนั้นก็ค่อยๆหายไปอย่างสิ้นเชิง หลังจาก มีการโหมส่งเสริมการเพาะเห็ดในถุงพลาสติก ซึ่งช่วงนั้น ไม่ว่าจะเป็นวัสดุเพาะ เชื้อเพลิง แรงงาน ถุงพลาสติก อาหารเสริม ล้วนแล้วแต่มีราคาถูกมาก แต่พอมาถึงปัจจุบันนี้ ราคาปัจจัยการเพาะสูงขึ้นมาก ไม่ว่าจะเป็นวัสดุเพาะ เชื้อเพลิง แรงงาน ถุงพลาสติก และมลภาวะอันเนื่องจากถุงพลาสติกอีก ทำให้ผมคิดย้อนกลับไปว่า ทำไมเราไม่นำเอาวิธีการเพาะเห็ดในไม้มารื้อฟื้นกันอีกที ด้วยเหตุผลที่ว่า มันเป็นวิธีที่ง่าย สามารถใช้ไม้ที่เราปลูกไว้ในบ้าน หรือตามไร่ ตามนา เช่น ไม้มะม่วง ไม้แค ไม้งิ้ว ไม้นุ่น ไม้กระถินณรงค์ ไม้ฉำฉา ไม้ขนุน ไม้ทุเรียน เป็นต้น โดยใช้ไม้เหล่านี้ ตัดทอนออกมาเป็นท่อนสั้นๆ ยาวไม่เกิน 1-1.2 ม. ควรตัดในช่วงฤดูไม้ผลัดใบ คือ ฤดูแล้ง ช่วงเดือน พฤศจิกายน ถึงเดือน มีนาคม ก่อนฤดูใบไม้ผลิต จะเป็นช่วงที่มีอาหารสะสมในไม้สูงที่สุด และเซลในเนื้อไม้ตายง่าย เพราะอยู่ระหว่างพักตัว ทำให้เชื้อเห็ดกินเข้าในเนื้อไม้ได้ง่ายยิ่งขึ้น การเพาะเห็ดในไม้นั้น เพียงเจาะไม้โดยใช้สว่านขนาดดอกสว่าน 3-4 หุน เจาะลึกเข้าไปในเนื้อไม้เพียง 1-1.5 นิ้วเท่านั้น เจาะโดยรอบท่อนไม้ ให้แต่ละรูห่างกัน 3-5 นิ้ว เมื่อใส่เชื้อเห็ดแล้ว ให้ใช้จุกสำเร็จ หรือปูนชีเมนต์ผสมเสร็จ หรือขี้ผึ้งเคี่ยวให้ร้อนทาปิดปากรู นำไปบ่มเชื้อ ให้เชื้อเห็ดเจริญเข้าไปในเนื้อไม้ 2-4 เดือน ขึ้นอยู่กับชนิดของเห็ด และขนาดของไม้ เมื่อเชื้อเห็ดเจริญทั่วเนื้อไม้แล้ว นำมาแช่น้ำไว้ 12-24 ชม. เพื่อกระตุ้นให้เส้นใยเห็ดรวมตัวกันเป็นดอก อีกไม่นาน ดอกเห็ดชุดแรกก็จะเกิดขึ้น ใหม่ๆ ดอกเห็ดอาจจะเกิดใกล้บริเวณรูที่เจาะ แต่ผลผลิตครั้งต่อไป ดอกเห็ดจะเกิดขึ้นได้ทั่วทั้งท่อนไม้ ไม่จำเป็นเสมอไปว่า มันจะต้องเกิดใกล้รูที่เจาะเท่านั้น จะเก็บผลผลิตเห็ดได้ไปจนกระทั่งไม้ผุ โดยไม่ต้องใส่เชื้อเห็ดใหม่เลย ไม้บางชนิด เช่น ไม้เนื้ออ่อน อันได้แก่ ไม่งิ้ว ไม้นุ่น ไม้เบาบับ จะให้ผลผลิตประมาณ 6-10 เดือน ไม้มะม่วง ไม้ขนุน ไม้หางนกยุง อาจจะให้ผลผลิตได้นาน 2-3 ปี ไม้มะขาม ไม้สะแก อาจจะให้ผลผลิตนาน 4-6 ปี สาเหตุที่ การเพาะเห็ดในขอนไม้ไม่เป็นที่นิยม และผู้เพาะส่วนใหญ่ จะประสพปัญหาขาดทุน ทั้งนี้ เนื่องจาก ผู้เพาะเห็ดไม่เข้าใจในหลักการที่แท้จริงของอุปนิสัยเห็ด ส่วนใหญ่ผู้เพาะเห็ด พอเห็นดอกเห็ดเกิดขึ้นแล้ว จะไม่มีการนำเอาท่อนไม้มากพัก ให้เชื้อเห็ดได้สะสมอาหาร เพื่อเตรียมพร้อมที่จะออกดอกชุดต่อไป หากทำการรดน้ำ เพื่อกระตุ้นให้เส้นใยเห็ดเกิดดอกอย่างต่อเนื่อง นั่นแหละ ผู้เพาะเห็ดกำลังเดินเข้าสู่เส้นทางหายนะ เป็นไปไม่ได้ ที่จะบังคับข่มขืนให้เห็ดออกดอกอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีการพักตัว ที่ญี่ปุ่น คนที่จะได้รับอนุญาตให้ตัดไม้จากป่ามาเพาะเห็ดได้ จะต้องเข้ารับการอบรมเห็ดภาคปฎิบัติอย่างน้อย 2 ปี บ้านเรายังไม่มีสถาบันนี้ครับ นี่แหละ ที่ผมกำลังจะทุ่มเงินอีกหลายสิบล้าน ที่จะสร้างอุทยานเห็ด นิคมเห็ดในพื้นที่มากกว่า 100 ไร่ ที่เริ่มดำเนินการแล้ว คาดว่า คงใช้เวลาไม่นาน จะรื้อฟื้นเรื่องการเพาะเห็ดในไม้ให้จงได้ แล้วนั่นแหละ แค้นที่ยังไม่สามารถส่งเสริมให้คนไทย ทำการเพาะเห็ดในไม้เป็นอาชีพยั่งยืนได้ ผมจะต้องทำให้ได้ ดั่งเช่น ประเทศต่างๆหลายประเทศทั่วโลก ที่ผมไปสอน จนเขายึดเป็นอาชีพที่มั่นคงได้ เอ้า ดูรูปไปพลางๆก่อน ไม่นานเกินรอ เราจะเปิดอบรมเห็ดในไม้ภาคปฎิบัติอย่างแน่นอน
การเพาะเห็ดในไม้ แต้นนี้ที่อยากชำระ ตอนที่ 4 61401691
รูปถ่ายที่หน้าอนุสาวรีย์ ดร.คานิจิ มอริ ผู้ก่อตั้งสถาบันเห็ดมอริ กับลูกชายของท่าน ดร.คาซูโอ๊ะ มอริ เมื่อครั้งที่ไปฝึกงาน การเพาะเห็ดในไม้ ที่ญี่ปุ่น ปี 2525
การเพาะเห็ดในไม้ แต้นนี้ที่อยากชำระ ตอนที่ 4 30246604
ในครั้งนั้น ผมได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมสถาบันที่เกี่ยวกับการวิจัยและผลิตเชื้อเห็ด ในรูปได้ถ่ายพร้อมกับ ประธานสถาบันทอทอริ และ อ.พันธุ์ทวี ภักดีดินแดน หนึ่งในปรมาจารย์เห็ดที่สำคัญคนหนึ่งของไทย ถ่ายเมื่อปี 2525การเพาะเห็ดในไม้ แต้นนี้ที่อยากชำระ ตอนที่ 4 95349638
ประธานสถาบันอากิยามา ซึ่งเป็นสถาบันที่ใหญ่ที่สุดในการผลิตเชื้อเห็ดของญี่ปุ่น ได้ไปเยี่ยมโครงการเห็ดแห่งชาติ ประเทศภูฎาน ขณะที่ผมเป็นผู้เชี่ยวชาญเห็ด ขององค์การอาหารและเกษตร(เอฟเอโอ) เมื่อปี 2527การเพาะเห็ดในไม้ แต้นนี้ที่อยากชำระ ตอนที่ 4 88264508
นี่คือ บุคคลที่ผมหมายมั่นปั้นมือ ให้เป็นผู้เชี่ยวชาญเห็ดแทนพ่อให้ได้ ไม่ว่าที่ไหนในโลก เพาะเห็ดอะไรใหม่ๆ ก็จะพ่วงเอาแกไปซึมทราบมาตั้งแต่เด็ก แต่พออัดยัดเยียดแกไปมากๆ พอแกโตขึ้น แกหนีเห็ดสุดชีวิต เพื่อไปศึกษาดูโลกอีกด้านหนึ่ง จนตอนนี้กลับมาสู้เต็มรูปแบบแล้ว รูปของลูกไผ่ ดช.ยงยศ เอื้อตระกูล อายุ ขวบกว่า เมื่อปลายปี 2526 กับการเพาะเห็ดในไม้หลิว ที่ภูฎาน
การเพาะเห็ดในไม้ แต้นนี้ที่อยากชำระ ตอนที่ 4 96735208
เห็ดหูหนูขาว ที่เราจะต้องนำเข้าร้อยเปอร์เซ็นต์ สามารถเพาะได้อย่างดี ผลผลิตสูงในไม้มะม่วง ถ่ายที่โครงการทดลองเพาะเห็ดใต้ต้นลำใย ที่จังหวัดลำพูน ปี 2519การเพาะเห็ดในไม้ แต้นนี้ที่อยากชำระ ตอนที่ 4 34526410
เห็ดหูหนูที่เพาะในไม้แค ที่ออกดอกให้ผลผลิตนานติดต่อกัน 2-3 ปีการเพาะเห็ดในไม้ แต้นนี้ที่อยากชำระ ตอนที่ 4 76380417
นี่เป็นผลงานสมัยอยู่ที่ประเทศภูฎานระหว่างปี 2524-2528 แล้วก็ไม่เคยห่างที่จะต้องพ่วง ดช.ยงยศ เอื้อตระกูล ไปเป็นสักขีพยานตลอดทุกแห่งหนการเพาะเห็ดในไม้ แต้นนี้ที่อยากชำระ ตอนที่ 4 62913620
ตั้งแต่ ปี 2516-2520 เมื่อมีการอบรมเห็ดทุกครั้ง จะพาไปทัศนศึกษาฟาร์มเห็ดในขอนไม้ทุกครั้ง ในรูป เป็นการถ่ายร่วมกันกับขอนไม้ที่มีเห็ดหูหนูบานสะพรั่ง ตอนนั้น ผมก็ยังใช้กางเกงมอสอยู่การเพาะเห็ดในไม้ แต้นนี้ที่อยากชำระ ตอนที่ 4 66438058
เมื่อครั้งที่ผมไปประจำอยู่ที่ประเทศภูฎาน ดร. ยุกติ สาริกภูติ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร สมัยนั้น ได้ไปเยี่ยมผมที่ประเทศภูน เมื่อปี 2527
การเพาะเห็ดในไม้ แต้นนี้ที่อยากชำระ ตอนที่ 4 98628766
เห็ดขอนขาว เห็ดขอนดำ เห็ดนางฟ้า เห็ดหูหนู เป็นเห็ดที่มีศักยะในการเพาะในขอนไม้ที่สุดการเพาะเห็ดในไม้ แต้นนี้ที่อยากชำระ ตอนที่ 4 52044936
อ.เยาวนุช เอื้อตระกูล คือ หัวเรือใหญ่ทางด้านวิชาการ และก็กัดไม่ปล่อยมากว่า 30 ปี เรื่องการเพาะเห็ดในไม้ ตอนนี้พร้อมแล้วที่จะรื้อฟื้นกันใหม่การเพาะเห็ดในไม้ แต้นนี้ที่อยากชำระ ตอนที่ 4 97051151
ญาติมิตรเห็ดทั้งหลาย ผมพร้อมแล้ว ท่านพร้อมหรือยัง ที่จะหันมาเพาะเห็ดในไม้ แทนการเพาะในถุง ที่เป็นปัญหาอยู่ปัจจุบันนี้
เรื่อง การเพาะเห็ดในไม้ แค้นนี้ได้เปิดเผยพอควรแก่เวลาแล้ว ด้วยประการฉะนี้

anonmush
ผู้มาเยือน


ขึ้นไปข้างบน Go down

ขึ้นไปข้างบน

- Similar topics

 
Permissions in this forum:
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ